“ผู้สูงอายุ” ป้องกันตัวเองจาก “โควิด-19” ได้อย่างไร?

ผู้สูงอายุวัย 60 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยมากกว่า 80 ปี เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ วิธีเหล่านี้จะช่วยดูแลสุขภาพของคนชราเหล่านี้ให้ปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสได้

“ผู้สูงอายุ” ป้องกันตัวเองจาก “โควิด-19” ได้อย่างไร? 1


ทำไมผู้สูงอายุถึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายที่สุด?

จากยอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ในประเทศจีนที่เกือบ 15% เป็นคนชราที่อายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตที่อายุน้อยกว่า 50 ปีน้อยกว่า 1% เท่านั้น จึงทำให้เราทราบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 และเสี่ยงมีอาการรุนแรงถึงชีวิตได้มากกว่าวัยอื่นๆ

แม้ว่ายังไม่มีหลักฐานออกมาระบุอย่างแน่ชัดว่าทำไมผู้สูงอายุถึงมีความเสี่ยงต่อโควิด-19 มากกว่าวัยอื่นๆ แต่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ระบุว่าผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส และมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แม้ว่าสุขภาพโดยรวมของคนๆ นั้นจะแข็งแรงสมบูรณ์ดีก็ตาม ยิ่งผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ปอด ตับ ไต ฯลฯ ยิ่งเสี่ยงมากยิ่งขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญให้ข้อสังเกตว่าอาจมาจากระบบภูมิคุ้มกันโรคที่ต่ำลงตามวัยนั่นเอง

เมื่อผู้สูงอายุในครอบครัวของเราตกเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสแบบนี้ เราจะมีวิธีดูแลผู้สูงอายุไม่ให้ติดเชื้อในช่วงนี้ได้อย่างไร ลองปฏิบัติตามคำแนะนำจาก หน่วยงานป้องกันโรคติดต่อในสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) เพื่อปกป้องสุขภาพของผู้สูงวัยในบ้านของคุณกัน

 
วิธีดูแลสุขภาพ “ผู้สูงอายุ” ให้ห่างไกลจากโควิด-19

  1. ให้ผู้สูงอายุล้างมือ หรือล้างมือให้ผู้สูงอายุด้วยสบู่นาน 20 วินาที (ชวนร้องเพลง Happy Birthday 2 รอบก่อนล้างน้ำสะอาด) หากไม่สะดวกล้างมือด้วยสบู่ สามารถใช้เจลล้างมือ หรือแอลกอฮอล์ได้
  2. หลีกเลี่ยงการสัมผัสมือกับผู้สูงอายุ และไม่ให้ผู้สูงอายุไปสัมผัสมือ และร่างกายของคนอื่น
  3. ไม่พา หรือปล่อยให้ผู้สูงอายุไปรวมกลุ่ม ร่วมกิจกรรม หรือไปที่สาธารณะที่มีคนอยู่รวมกันเยอะๆ
  4. ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ที่ผู้สูงอายุสัมผัสบ่อยๆ ทุกวัน (อาจจะวันละมากกว่า 1 ครั้ง)
  5. หลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้สูงอายุใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า เป็นต้น
  6. งดกิจกรรมการเดินทางร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ เช่น ทัวร์เที่ยวต่างประเทศ ขึ้นเรือสำราญ เป็นต้น
  7. หลีกเลี่ยงการพบปะกับคนอื่นๆ หรือญาติต่างๆ ที่กำลังป่วย
  8. หากจำเป็นต้องออกไปข้างนอก เช่น ไปซื้อของ เลือกไปที่ที่มีคนน้อยกว่า เช่น เลือกไปซูเปอร์มาร์เก็ตเล็กๆ มากกว่าไปห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะกับคนจำนวนมากให้ได้มากที่สุด
  9. หากมีโรคประจำตัวที่ต้องไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเป็นประจำ ลองสอบถามแพทย์ประจำตัวดูว่ามีความจำเป็นต้องไปหรือไม่ สามารถพูดคุยปรึกษาผ่านวิดีโอคอลได้หรือไม่ หรือแม้กระทั่งการสั่งจ่ายยาออนไลน์โดยส่งยามาให้ที่บ้าน หรือให้ผู้ป่วยรับยาได้เองที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาล รวมถึงสอบถามแพทย์ด้วยว่าสามารถซื้อยามาเก็บตุนไว้โดยไม่ต้องออกไปซื้อยาบ่อยๆ เหมือนเดิมได้หรือไม่
  10. ระมัดระวังในการปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวด้วย แม้ว่าจะปลอดภัย แต่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ คนในครอบครัวยังต้องดูแลเอาใจใส่ พูดคุย หรือใครที่อยู่ห่างไกลจากผู้สูงอายุที่เป็นญาติผู้ใหญ่ ยังควรโทรหา หรือวิดีโอคอลถามสารทุกข์สุกดิบบ้าง
  11. เตือนให้ผู้สูงอายุอย่าลืมทำกิจกรรมเดิมๆ ที่เคยทำแม้ว่าจะอยู่คนเดียว หรือไม่ได้เจอเพื่อน เช่น หากเคยทำอาหาร รดน้ำต้นไม้หน้าบ้าน หรือทำกายบริหารเบาๆ ก็ควรยังทำอยู่ต่อไป อย่าขาด
  12. หากมีอาการผิดปกติในร่างกาย เช่น มีไข้ น้ำมูกไหล ไอ จาม เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ควรรีบติดต่อลูกหลานทันที โดยลูกหลานอาจตั้งเบอร์โทรด่วน (เช่น กด 1 ค้าง) แล้วโทรเข้าเบอร์ลูกหลานทันทีเอาไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

ขอขอบคุณ Snook.com

ข่าวสาร